บทความนี้สำหรับนักธุรกิจที่ต้องการเน้นความเข้าใจพื้นฐานว่า AI คืออะไร, AI เรียนรู้ได้อย่างไร, และยกตัวอย่างคร่าวๆของการนำ AI มาใช้ในธุรกิจและไอเดียว่า AI จะสามารถเพิ่มมูลค่าและขยายโอกาสให้กับธุรกิจได้อย่างไร
AI มีความหมายว่าอะไร? AI คืออะไร และ AI ไม่ใช่อะไร?
AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ ไม่ได้หมายถึงหุ่นยนต์หรือไม่ได้หมายถึงซอฟท์แวร์อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดและใช้กันผิด แต่หมายถึง “สาขาความรู้หนึ่ง” (Field) เช่นเดียวกับเวลาเราพูดถึง ฟิสิกส์ เคมี ชีวะฯ คณิตศาสตร์ ดังนั้นถ้าว่ากันตามหลักการแล้วเวลาเราพูดว่า “เราใช้ AI เพื่อทำนายว่า วันพรุ่งนี้หุ้นนี้จะราคาเท่าไหร่” ก็ไม่ต่างอะไรกับเวลาเราบอกว่า “คุณหมอใช้ ชีววิทยา ในการรักษาคนไข้” ซึ่งไม่ได้ผิดแต่เป็นคำที่กว้างเกินไปครับ ดังนั้นถ้าว่ากันตามตรง คำถามต่างๆ (ที่ขึ้น top searched keyword ใน google) ที่ว่า AI คือโปรแกรมอะไร? หรือ AI มีลักษณะอย่างไร? จึงอาจไม่ใช่คำถามที่ถูกต้องนัก แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่หรือสื่อใช้คำว่า AI ในลักษณะดังกล่าวเยอะก็คงจะไม่เป็นไรที่เราจะใช้ด้วย (แม้แต่ผมเองก็มักจะใช้คำว่า AI ไปเลยในการพูดคุยกับลูกค้าที่เป็นเจ้าของธุรกิจอยู่บ่อยครั้งเพื่อความง่ายในการสื่อสารและกันความสับสนครับ) แต่ถ้าให้ตรงตามหลักทฤษฎีจริงๆแล้ว บางคนจะใช้คำว่า AI system (ระบบที่ใช้ความสามารถของ AI) หรือก็ไปใช้ชื่อโมเดลไปเลยเช่น Generative Pretrained Transformer (GPT)
แล้ว AI ที่บอกว่าเป็น สาขาวิชา มันคืออะไรกันแน่? และมีลักษณะการทำงานอย่างไร?
จากนี้เป็นต้นไปเราจะขอพูดเน้นถึงกลุ่มเดียวของแขนงวิชา AI ที่เป็นที่ใช้งานในภาคธุรกิจมากที่สุดคือ Machine Learning (การเรียนรู้ของเครื่อง) นะครับ
ถ้าในภาษาง่ายๆ “AI/Machine Learning เป็นแขนงวิชาของการสร้างโมเดล (ทางคณิตศาสตร์) เพื่อการทำนายสิ่งต่างๆจากข้อมูลที่มี โดยการเรียนรู้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลโดยตรง”
(*ต้องขอโทษ engineer และ computer scientist ทุกท่านล่วงหน้านะครับที่อาจจะใช้ภาษาที่ง่ายเกินไปหรืออาจจะฟังดูไม่ถูกตามทฤษฎี 100% ทั้งนี้เพื่อให้บทความนี้อ่านง่ายที่สุดเพื่อเป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับผู้ที่สนใจการ apply มากกว่า theory, ขอโทษล่วงหน้าด้วยเลยว่าจะขอพูดเน้น supervised learning อย่างเดียวก่อนเพื่อไม่ให้ผู้อ่านสับสน)
ทวนอีกที“การสร้างโมเดล (ทางคณิตศาสตร์) เพื่อการทำนายสิ่งต่างๆจากข้อมูลที่มี โดยการเรียนรู้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลโดยตรง”
ใจความสำคัญคือสี่อย่างครับ
โมเดลทางคณิตศาสตร์ (model)
ทำนายสิ่งต่างๆที่เราสนใจ (target)
จากข้อมูลที่มี (feature)
โดยการเรียนรู้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลโดยตรง ( learning )
แปลว่าถ้าเราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลอยู่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ AI ใช่ไหม? ใช่! เช่นเรา สร้าง AI ที่แปลงน้ำหนักตัวเราที่เป็น kg. เป็น ปอนด์ (pounds) ได้ไหม? คำตอบคือได้ แต่จะทำไปทำไม เพราะเรามี model ทางคณิตศาสตร์ที่ทำหน้าที่นี้ได้ดีอยู่แล้วคือ
น้ำหนักเป็นกิโลกรัม x 2.2 = น้ำหนักเป็นปอนด์
อันนี้ก็คือตัวอย่างของ "โมเดลทางคณิตศาสตร์" แบบหนึ่งที่เราเรียกว่าฟังก์ชั่นครับ
ก่อนที่จะมีวิชา AI หรือ Machine Learning มนุษย์พยายามหาโมเดลมาอธิบายทุกอย่างที่อยู่ในธรรมชาติเพื่อให้ทำนายหรือทำประโยชน์บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโมเดลคณิตศาตร์เพื่อทำพยากรณ์อากาศจาก อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ ความเร็วลม ฯลฯ
ถ้าพิจารณาตัวอย่างจากการพยากรณ์อากาศในตัวอย่างอันนี้
สมมติว่าเรากำลังใช้ 1.อุณหภูมิ 2.ความชื้น 3.ความกดอากาศ 4.ความเร็วลม เพื่อทำนายว่าวันพรุ่งนี้ฝนจะตกหรือไม่ แปลว่าFeature หรือข้อมูลที่เรามี ของเราคือ 1.อุณหภูมิ 2.ความชื้น 3.ความกดอากาศ 4.ความเร็วลมTarget หรือข้อมูลที่เราสนใจ (วิธีจำคือ target คือเป้าหมายของเรา) ของเราคือ โอกาสที่ฝนจะตก (100% แปลว่าตกแน่นอน 0% แปลว่าไม่ตกแน่นอน) แปลว่าเราต้องมีสมการบางอย่างที่เอาไว้ใส่ค่าต่างๆเข้าไปแล้วออกมาเป็นตัวเลขเต็ม 100% ถูกต้องไหมครับ
ปัญหาคือเราจะรู้สมการได้อย่างไร? ถ้าเราไม่สามารถสร้างสมการได้ เราก็จะไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก Feature ได้เลย
สร้างโรงเรียนผลิตนักเรียน (model) อาจจะง่ายกว่าสร้าง model เอง
ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์หัวใสเลยคิดขึ้นมาได้ว่า แทนที่เราจะพยายามสร้างโมเดลด้วยตัวเอง บางทีอาจจะง่ายกว่าถ้าเราสร้าง “โรงเรียน” ที่เอาไว้สร้างโมเดลอีกที และเปรียนเสมือนว่าโมเดลคือนักเรียนคนหนึ่งที่เรียนรู้จากการดูตัวอย่างแล้วทำตามจนเก่ง
นี่เลยเป็นที่มาของศาสตร์ Machine Learning ครับ คือเราสร้างกระบวนการการเรียนรู้ให้กับมันพูดภาษาบ้านๆคือ เรามีวิธีให้มันค้นหาสมการเอง แต่การค้นหาสมการนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สิ่งที่ต้องแลกมากับการที่เราไม่มีสมการให้มัน คือเราต้องมีตัวอย่างให้มันเยอะๆและมีกระบวนการเรียนรู้ที่เหมือนกับโรงเรียน และถ้าเปรียบเทียบแล้ว โมเดลที่ใช้งานได้ก็เหมือนนักเรียนที่สำเร็จการศึกษานั่นเอง โดยนักเรียนคนนี้มีเทคนิคการเรียนรู้ (เราจะยังไม่พูดถึงกระบวนการเรียนรู้ในวันนี้) ที่ผลิตบัณฑิต (model) ผ่านการให้ดูตัวอย่างเยอะๆนั่นเองครับ
เราค้นพบว่าการสร้างโมเดลด้วยลักษณะนี้มีประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลและเราสามารถสร้างโมเดลเพื่อให้ไปเรียนรู้อะไรก็ได้ที่ถึงแม้ว่าเราไม่รู้เลยว่าจะสร้างสมการให้สิ่งนั้นอย่างไร การที่เรามีข้อมูลก็เพียงพอให้เราสร้าง model เพื่อไปทำประโยชน์ได้แล้วครับ
สำหรับเจ้าของธุรกิจที่ต้องการใช้ AI ในธุรกิจสามารถจะบอกได้เลยว่า หากท่านมี Target หรือเป้าประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการจะให้ AI ทำอะไรกันแน่ และมีข้อมูลตัวอย่าง Feature ที่มากเพียงพอ ท่านก็สามารถจะสร้าง AI มาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ครับ
ธุรกิจที่ใช้ AI มีอะไรบ้าง? แล้วใช้ AI กันอย่างไรบ้าง? ขอตัวอย่างหน่อย
ในธุรกิจธนาคาร เช่นใช้ในการตรวจจับธุรกรรมฉ้อโกง: เรามีข้อมูลของธุรกรรมบัตรเครดิตต่างๆเช่น ประเทศเจ้าของบัตร, ธนาคาร, ยอดเงิน, ตำแหน่งที่ทำธุรกรรม, ประเภทของสินค้าหรือบริการ, ประวัติธุรกรรมก่อนหน้า (feature) และเราอยากทำนายว่าธุรกรรมอันล่าสุดที่เข้ามาเป็นธุรกรรมที่ผิดกฎหมายหรือเกิดจากการฉ้อโกงหรือไม่ (target) ถึงเราไม่รู้สมการในการคำนวณว่าธุรกรรมนี้ถูกกฎหมายหรือไม่เราก็สามารถสร้างโมเดลจากตัวอย่างเยอะๆได้ เพราะเรามีข้อมูล
ในธุรกิจ retail หรือธุรกิจใดๆที่ต้องการการสต็อกของ เช่นใช้ในการจัดการสต็อกและการสั่งซื้อสินค้า: เรามีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สินค้าต่างๆ เช่น อุปกรณ์สำนักงาน, วัตถุดิบในการผลิต, หรือสินค้าคงคลังในร้านค้า รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้งานและฤดูกาล (feature) ซึ่งเราต้องการทราบว่าเมื่อใดควรสั่งซื้อสินค้าเพิ่มเติมเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดแคลนหรือการสต็อกของมากเกินไป (target) การใช้ AI ในการวิเคราะห์และทำนายเวลาที่เหมาะสมในการสั่งซื้อช่วยให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสินค้าคงคลัง นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างทันท่วงที และลดความเสี่ยงของการขาดแคลนสินค้า
ในธุรกิจใดก็ได้ที่ต้องตอบแชทลูกค้า มีการใช้ AI เพื่อตอบคำถามของลูกค้า: โดยใช้ AI แบบแชทบอทที่ถูกฝึกฝนด้วยข้อมูลคำถามและคำตอบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา เช่นสมมติตัวอย่างในธุรกิจโรงแรม (feature) เพื่อตอบคำถามของลูกค้าโดยอัตโนมัติ (target) การใช้ AI ในลักษณะนี้ช่วยลดภาระงานของพนักงานแอดมินที่ต้องตอบคำถามเดิมๆ และช่วยให้พวกเขามีเวลาไปทำงานอื่นที่สำคัญยิ่งขึ้น นอกจากนี้ AI ยังสามารถถูกใช้เพื่อแนะนำโปรโมชั่น, บริการเสริม, หรือแพ็คเกจพิเศษให้กับลูกค้าที่สนใจ ช่วยเพิ่มยอดขายและปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า (อันนี้จะออกไปในทาง generative model ซึ่งถ้าลงลึกจริงๆแล้วจะซับซ้อนกว่านี้ ซึ่งรายละเอียดของโมเดลแบบนี้ ติดตามอ่านได้ในบทความต่อๆไปของเรานะครับ)
ในธุรกิจใดก็ได้ที่ต้องการทำ personalized marketing สามารถใช้ AI ในการทำนายความต้องการและความสนใจของลูกค้า: โดยใช้ข้อมูลเช่น ประวัติการซื้อผลิตภัณฑ์และบริการ, ความถี่ในการเข้าใช้บริการ, การตอบรับต่อโปรโมชั่นก่อนหน้า, และประวัติการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ (feature) เพื่อทำนายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ลูกค้าน่าจะสนใจในอนาคต หรือโปรโมชั่นที่ลูกค้าน่าจะตอบสนองดี (target) การใช้ AI ในการวิเคราะห์ช่วยให้ธุรกิจสามารถเสนอข้อเสนอที่ตรงกับความสนใจและความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยทำนายเวลาที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการอาจต้องการถูกเติมเต็ม (เช่นเดาว่าลูกค้าน่าจะใช้สินค้าพวกครีมใกล้หมดแล้ว) เพื่อส่งโฆษณาหรือส่งข้อเสนอพิเศษไปยังลูกค้าที่มีแนวโน้มสนใจ ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายและการรักษาลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นี่เป็นแค่ตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ซึ่งเราจะเห็นว่าในปัจจุบัน AI ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ, การทำนายความต้องการของลูกค้า, หรือการจัดการสต็อกสินค้าและทรัพยากรอย่างชาญฉลาด เทคโนโลยีนี้เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น, ลดความซับซ้อน, และเพิ่มประสิทธิผล เพื่อให้แต่ละธุรกิจสามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุค digital ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ การเรียนรู้และนำ AI มาใช้ในการทำงานประจำวันอาจเป็นก้าวสำคัญที่จะนำธุรกิจของคุณไปสู่ระดับถัดไป และสร้างความได้เปรียบในตลาดที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในปัจจุบันนี้ครับ
บริษัท ไอเอ็ม อิมพาวเวอร์ เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้าน AI Transformation ให้กับเจ้าของธุรกิจมากมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เราเคยร่วมงานกับลูกค้าในหลายภาคส่วน ทั้งกลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท, การท่องเที่ยว, ทัวร์, คลินิกเสริมความงามชื่อดัง, โรงพยาบาล, แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง และอื่นๆอีกมากมาย
ซึ่งนอกจากการให้คำปรึกษาแล้ว เรายังเป็นผู้พัฒนาโซลูชัน AI ที่ตอบโจทย์และสร้างสรรค์เฉพาะตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย
เรามุ่งมั่นในการนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับธุรกิจของคุณ
ด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และความรู้ทางด้าน AI ที่ลึกซึ้ง เราพร้อมที่จะเป็นพาร์ทเนอร์คู่คิดและมืออาชีพในการนำธุรกิจของคุณก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพและมั่นคงครับ
ติดต่อเราได้ที่: techlead@imimpowerconsulting.com
หรือนัดปรึกษากับเราว่า AI จะสามารถใช้งานในธุรกิจของคุณได้อย่างไร: https://calendly.com/joeimpower/business-introduction-call
(Book a FREE discovery call with us here!)
Comments